• หน้าแรก
  • ผลิตภัณฑ์
  • โปรโมชั่น
  • เพลินจิต
  • ข่าวสารและประชาสัมพันธ์
สุขภาพและความสวย

จากโควิดสู่โรคระบาดใหม่ 9 สิ่งที่ต้องรู้เกี่ยวกับ “โรคฝีดาษลิง”

วันที่เผยแพร่: 16 มิ.ย. 65

เรามาลองนึกเล่น ๆ กันค่ะ ว่าช่วงระยะเวลาประมาณ 2 ปีนี้หรือที่ผ่านมา เราฉีดวัคซีนอะไรไปแล้วบ้าง อย่างน้อยก็ต้องมีวัคซีนโควิดขั้นต่ำ 2 - 4 เข็ม และวัคซีนไข้หวัดใหญ่ 1 เข็ม เยอะไปหมดเลย…ซึ่งประโยชน์ของวัคซีนนั้นสามารถป้องกัน ลดความเสี่ยงและลดผล  กระทบการเกิดโรคร้ายแรงของโรคติดต่อ หรือในบางกรณีอาจจะช่วยกําจัดโรคได้หมด การฉีดวัคซีนจึงเป็นสิ่งจำเป็นในทุกช่วงวัย เพราะสามารถช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้ตัวเอง และภูมิคุ้มกันที่จะส่งต่อโรคไปยังผู้อื่นด้วย

 

หลายวันที่ผ่านมา พอโควิด-19 เริ่มซาลง เราก็เห็นข่าวผู้ติดเชื้อโรคฝีดาษลิงต่อเนื่องเลย แค่คิดก็น่ากลัวแล้วใช่มั้ยคะ โควิดยังไม่ทันหมดไปจากโลกของเรา ก็มีโรคฝีดาษลิงต่อคิวรอแพร่ระบาดแล้วหรอเนี่ย

 

ข่าวล่าสุดจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า ตอนนี้พบผู้ติดเชื้อฝีดาษลิงที่ได้รับการยืนยันแล้วถึง 780 คน ใน 27 ประเทศนอกทวีปแอฟริกา ซึ่งไม่ได้มีโรคฝีดาษลิงเป็นโรคประจำถิ่น เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาตัวเลขของผู้ติดเชื้อกลุ่มดังกล่าวยังอยู่ที่เพียง 257 รายเท่านั้นเอง ชี้ให้เห็นว่ามีการแพร่ระบาดในประเทศต่างๆ ทั่วโลกเพิ่มขึ้นถึงเกือบ 3 เท่าตัวในเวลาเพียงแค่ 1 สัปดาห์เท่านั้น แต่เป็นโรคที่รุนแรงน้อย ไม่พบผู้เสียชีวิต และWHO จัดความเสี่ยงของโรคฝีดาษลิงอยู่ในระดับปานกลาง

 

แต่สำหรับสถานการณ์ในบ้านเรานั้น อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) ยืนยันว่า ไทยยังไม่พบผู้ป่วยโรคฝีดาษลิง ก็อุ่นใจได้ระดับนึง แต่ยังไงก็ต้องเตรียมพร้อมรับมือไว้ก่อน แอดมินได้รวบรวม 9 สิ่งที่ต้องรู้เกี่ยวกับโรคฝีดาษลิง มาให้ผู้อ่านทำความเข้าใจโรคฝีดาษลิง เพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงการเกิดโรคนี้กันก่อนนะคะ ^^

1. ทำความรู้จักโรคฝีดาษลิง

โรคฝีดาษลิง หรือไข้ทรพิษลิง (Monkeypox) เกิดจากไวรัส Othopoxvirus ซึ่งอยู่ในตระกูลเดียวกันกับเชื้อไวรัสโรคฝีดาษ หรือไข้ทรพิษ พบในสัตว์ตระกูลลิงและสัตว์ฟันแทะ เช่น กระรอก หนูป่า รวมทั้งคนก็สามารถติดโรคได้ พบโรคนี้มากในแถบแอฟริกากลางและแอฟริกาตะวันตก และยังพบผู้ป่วยในประเทศนอกเขตแอฟริกา เช่น สหรัฐอเมริกา อิสราเอล สิงคโปร์ และสหราชอาณาจักร ซึ่งเกิดจากการเดินทางระหว่างประเทศหรือการนำเข้าสัตว์ติดเชื้อ

2. อาการโรคฝีดาษลิง

โรคฝีดาษลิงต่างจากโรคฝีดาษทั่วไป โดยมีอาการที่สังเกตได้ คือ หลังจากที่สัมผัสเชื้อไปแล้วประมาณ 12  วัน ผู้ป่วยอาจมีอาการแสดง 2 ระยะ ได้แก่

ระยะก่อนออกผื่น (Invasion Phase)  

  • เริ่มจากมีไข้ ปวดหัว ปวดตัว ปวดหลัง อ่อนเพลีย และต่อมน้ำ-เหลืองโต
  • โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาการต่อมน้ำเหลืองโต เป็นอาการที่สังเกตได้ของโรคฝีดาษลิง ซึ่งแตกต่างจากโรคอื่นๆ ที่มีตุ่มน้ำตามมา เช่น โรคอีสุกอีใส (Chickenpox) , โรคหัด (Measles) , โรคฝีดาษ หรือไข้ทรพิษ (Smallpox)
  • อาจมีอาการเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร ท้องเสีย อาเจียน และอาการทางระบบหายใจ เช่น เจ็บคอ ไอ เหนื่อย ได้อีกด้วย

ระยะออกผื่น (Skin Eruption Phase)

  • หลังจากมีไข้ประมาณ 1-3 วัน จะเริ่มมีอาการแสดงทางผิวหนัง มีลักษณะตุ่มผื่นขึ้น โดยเป็นตุ่มที่มีรูปแบบการเปลี่ยนแปลงตามลำดับ โดยเริ่มจากรอยแดงจุดๆ เป็นตุ่มนูนแดง ตุ่มน้ำใส ตุ่มน้ำหนอง และจากนั้นจะแห้งออกหรือแตกออกแล้วหลุด เรียงไปตามลำดับ
  • โดยตุ่มมักจะหนาแน่นที่บริเวณใบหน้า และแขนขา มากกว่าที่ร่างกาย
  • ในระยะออกผื่น ผื่นจะกลายเป็นสะเก็ดคลุม แห้งและหลุดออกมา โดยใช้เวลาประมาณ 2-4 สัปดาห์

3. โรคฝีดาษลิงติดต่ออย่างไร

การติดต่อจากสัตว์สู่คน 

  • สัมผัสโดยตรงกับสารคัดหลั่ง
  • ตุ่มหนองของสัตว์ที่ติดเชื้อ
  • ถูกสัตว์ที่มีเชื้อกัดข่วน
  • กินเนื้อสัตว์ที่มีเชื้อและปรุงสุกไม่เพียงพอ

การติดต่อจากคนสู่คน

  • สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยทางสารคัดหลั่งทางเดินหายใจจากผิวหนังที่เป็นตุ่ม 

4. แพทย์ตรวจวินิจฉัยโรคฝีดาษลิงได้อย่างไร

แพทย์เฉพาะทางจะพิจารณาจากอาการเป็นหลัก โดยเฉพาะอาการมีไข้พร้อมกับตุ่มน้ำใสคือสัญญาณชัดเจนของโรคฝีดาษลิง โดยจะทำการตรวจหาสารพันธุกรรม Real – Time PCR โดยระยะเวลาการตรวจอยู่ที่ 24 – 48 ชั่วโมง และการตรวจลำดับนิวคลิโอไทด์ด้วยเทคนิค DNA Sequencing ที่ใช้ระยะเวลาการตรวจ 4 – 7 วัน

5. สิ่งที่ต้องระวังเมื่อเป็นฝีดาษลิง

เมื่อเป็นฝีดาษลิงสิ่งที่ต้องระวังคือ การแยกตัวออกจากบุคคลอื่นทันที แยกห้องนอน แยกห้องน้ำ แยกของใช้ ห้ามสัมผัสใกล้ชิดกับผู้อื่นโดยเด็ดขาด ที่สำคัญคือห้ามแคะ แกะ เกาผื่นหรือตุ่ม เพื่อป้องกันแผลเป็นที่ทำให้เสียความมั่นใจได้

6. ฝีดาษลิงเป็นแล้วหายได้เองไหม

โดยทั่วไปแล้ว อาการป่วยโรคฝีดาษลิงสามารถหายจากโรคเองได้ ไม่ร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิต อาการป่วยจะกินเวลาประมาณ 2-4 สัปดาห์ จึงหายจากโรค และมียาต้านไวรัสในกลุ่มของฝีดาษคน และฝีดาษลิงที่สามารถรักษาโรคได้ แต่ในกรณีผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ มีโรคประจำตัว อาจมีภาวะแทรกซ้อน เช่น ปอดบวม หรือเสียชีวิตได้

 

7. การปลูกฝีในอดีต ป้องกันโรคฝีดาษลิงได้จริงหรอ

ผู้ที่ได้รับการปลูกฝีเพื่อป้องกันฝีดาษคนหรือไข้ทรพิษในอดีตมีภูมิคุ้มกันที่ช่วยป้องกันฝีดาษลิงได้ เพียงแต่ประเทศไทยเลิกปลูกฝีไปตั้งแต่ปี พ.ศ. 2517 เนื่องจากฝีดาษคนหรือไข้ทรพิษหมดไปจากโลกในขณะนั้น ดังนั้นการสังเกตว่าตนเองเคยได้รับการปลูกฝีแล้วหรือไม่สามารถสังเกตได้จากแผลเป็นบริเวณต้นแขนซ้าย ซึ่งจะมีลักษณะเป็นแผลแบนเรียบหรือมีหลุมลงไปเล็กน้อย ประกอบกับต้องสังเกตปีเกิด นั่นคือหากเกิดหลังปี พ.ศ. 2523 ยังไม่เคยได้รับการปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษแน่นอน ส่วนในผู้ที่เกิดหลังปี พ.ศ. 2517 แต่ก่อนปี พ.ศ. 2523 นับเป็นช่วงก้ำกึ่งต้องตรวจดูแผลอย่างละเอียดโดยแพทย์เฉพาะทางเพื่อจะยืนยันได้ว่าเคยปลูกฝีมาแล้วหรือไม่

8. มีวัคซีนป้องกันฝีดาษลิงหรือไม่

การฉีดวัคซีนป้องกันฝีดาษคน หรือโรคไข้ทรพิษ สร้างจาก Modified Vaccinia Ankara-Bavarian Nordic (MVA-BN) สำหรับป้องกัน Orthopoxvirus สามารถป้องกันได้ทั้งโรคไข้ทรพิษ และโรคฝีดาษลิง ซึ่งมีประสิทธิภาพป้องกันโรคได้ถึง 85%

แต่อย่างไรก็ตาม การฉีดวัคซีนไม่ได้หมายความว่าจะช่วยป้องกันโรคฝีดาษลิงได้หมด เพราะยังมีปัจจัยอื่น ๆ อย่างภูมิคุ้มกันในร่างกายของแต่ละคนที่เป็นตัวแปรด้วย ดังนั้น จึงไม่ควรประมาท หมั่นล้างมือ และหลีกเลี่ยงการสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้อื่นอยู่เสมอนะคะ

9. วิธีการป้องกันโรคฝีดาษลิง

  • สวมหน้ากากอนามัย
  • หมั่นล้างมือด้วยสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์บ่อยๆ  โดยเฉพาะหลังสัมผัสสัตว์ หรือสิ่งของสาธารณะ
  • เลี่ยงการใช้มือสัมผัสใบหน้า ตา จมูก และปาก
  • ไม่ใช้ของร่วมกับผู้อื่น
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสัตว์ป่วย สัตว์ที่เป็นพาหะโดยเฉพาะลิง และสัตว์ฟันแทะ เช่น สัตว์ตระกูลหนู กระรอก กระต่าย เป็นต้น
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารคัดหลั่ง แผล ตุ่มหนอง หรือตุ่มน้ำใส จากผู้มีประวัติเสี่ยง หรือสงสัยว่าติดเชื้อ กรณีที่สัมผัสเชื้อไปแล้ว ควรฉีดวัคซีนป้องกันในกรณีที่ยังไม่เกิน 14 วัน

ในปัจจุบันยังไม่มีการรักษาโรคฝีดาษลิงโดยตรง แต่สามารถควบคุมการระบาดได้ ด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้ทรพิษ ซึ่งสามารถป้องกันโรคฝีดาษลิงได้ 85%

แอดมินหวังว่า ข้อมูลจากบทความนี้ทำให้ผู้อ่านได้ทำความรู้จักกับโรคฝีดาษลิงมากขึ้น หากเราหรือคนใกล้ชิดมีอาการเข้าข่ายโรคฝีดาษลิงก็สามารถแจ้งทางโรงพยาบาลเพื่อวินิจฉัย แยกกักตัวเพื่อไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดได้ทันที และในตอนนี้เริ่มเปิดประเทศแล้ว คนเดินทางเยอะขึ้น แต่เมื่อเทียบกับโควิด – 19 โรคฝีดาษลิงถือว่าไม่ได้ระบาดเร็ว ไม่ต้องกังวลเลย แต่ยังไงก็ตามแอดมินขอแนะนำให้ผู้อ่านอย่าลืมติดตามข่าวสารอยู่เรื่อย ๆ เพื่อเป็นประโยชน์ในการป้องกัน ดูแลตัวเองและคนรอบข้างอย่างถูกต้อง ด้วยความห่วงใยนะคะ ^^

การให้ความสำคัญกับการใช้ชีวิตอย่างปลอดภัย ให้ห่างไกลโรคระบาดต่าง ๆ ถือว่าเป็นเรื่องใกล้ตัวที่มีผลต่อความสุขทั้งทางกายและทางใจของเรามาก ๆ เลย ไม่ว่าจะอยู่บ้านหรือเดินทางไปทำงานหรือไปเที่ยวที่ไหนก็ตาม อย่าลืมดูแล  สุขอนามัย รักษาสุขภาพของตัวเองและครอบครัว ด้วยความรักและความห่วงใย แอดมินขอแนะนำ “แผนประกันสุขภาพแฮปปี้ เฮลธ์ แคร์” แบบมีจำนวนเงินความรับผิดส่วนแรก ช่วยให้คุณหมดกังวลเรื่องค่าใช้จ่าย เมื่อค่ารักษาจากสวัสดิการไม่เพียงพอ พร้อมลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 25,000 บาทต่อปี* พร้อมมอบความคุ้มครองการรักษาพยาบาล “โรคฝีดาษลิง” ดูแลคุณต่อเนื่องครอบคลุม IPD & OPD ประกันสุขภาพส่วนบุคคลจาก Cigna เลือกได้ในแบบคุณ ครอบคลุมทุกการรักษา

 

คลิกเลย >> https://www.krungsribroker.com/health-insurance

 

ก่อนตัดสินใจทำประกัน แอดมินแนะนำให้ศึกษาแผนประกันอย่างละเอียด เช่น ความคุ้มครองที่จะได้รับ เงินชดเชย เบี้ยประกัน หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ kgibsales@krungsri.com ทางเรายินดีให้คำปรึกษาค่ะ สุขภาพดีเป็นลาภอันประเสริฐ แม้วันนี้ยัง     แข็งแรง แต่อนาคตไม่มีอะไรรับประกันได้ว่าโรคร้ายจะไม่ถามหา ทางที่ดีที่สุดคือการดูแลตัวเอง รักษาสุขภาพ รวมถึงการบริหารความเสี่ยงอย่างการทำประกันก่อนวันนั้นมาถึง ด้วยความเป็นห่วงนะ ^^

เขียนบทความโดย LADYNENA

 

ขอบคุณข้อมูลดี ๆประกอบบทความจาก:

https://www.samitivejsriracha.com

https://thestandard.co

https://mgronline.com

https://www.sikarin.com

https://www.bpksamutprakan.com

https://www.phyathai.com

https://www.naewna.com

https://www.bangkokhospital.com